21 มีนาคม 2556

ลมหายใจ “คนพิสูจน์อักษร”

เมื่อสื่อสิ่งพิมพ์ถูกอนาคตไล่ล่า จากเทคโนโลยีการสื่อสารที่พัฒนาแบบก้าวกระโดด
จนทำให้การนำเสนอข่าวในยุคปัจจุบัน หันไปแข่งกันเรื่อง “ความเร็ว” มากกว่า “ความถูกต้อง”


โปรยเกริ่นๆ แบบชวนอ่านผสานอยากชวนคุยแบบเรื่อยเปื่อยสักนิด
ด้วยช่วงนี้ไม่ค่อยมีเวลามาอัพเดท Blog น้อยๆ แห่งนี้ เพราะต้องมุ่งมั่นทำงาน
โดยงานที่ทำนั้นก็คือ พิสูจน์อักษรอิสระ ให้กับที่ต่างๆ หลายๆ แห่ง
กล่าวได้ว่าต้องทำงานทุกวัน อ่านตรวจตัวอักษรทุกคืน ทั้งจากหน้าคอมพ์และหน้ากระดาษ
ขนาดวันเสาร์-อาทิตย์ยังต้องทำงานตลอด ทว่าก็มีความสุขใจเสมอยามได้อ่าน ได้ซึมซับ ได้ปรู๊ฟ
เอาละ ขอนำเข้าสู่เนื้อเรื่องที่อยากเอามาบอกเล่า บอกต่อ และเผยแพร่กันดีกว่า
เป็นบทความหนึ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอาชีพ Proofreader ซึ่งนานๆ จะได้เห็นสักที

ลมหายใจ “คนพิสูจน์อักษร” ความสำคัญที่หายไปใน นสพ.ยุคใหม่?

สื่อดิจิตอล” ทั้งเว็บไซต์ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์
รวมถึงบล็อก ที่เคลื่อนไหวด้วยหลักนาที-วินาที
จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทแทนที่ “สื่อกระดาษ” อย่างหนังสือพิมพ์
ที่เคลื่อนที่ด้วยหลัก “วัน”

ความเปลี่ยนแปลงข้างต้น ทำให้ทุกองคาพยพในวิชาชีพสื่อ
ตั้งแต่นักข่าวภาคสนามไปจนถึงเจ้าของกิจการ ต้องปรับตัวกันขนานใหญ่
จนมีการข้ามสื่อกันอย่างอุตลุด จากหนังสือพิมพ์ ไปทำเว็บไซต์ไม่ก็โทรทัศน์
หรือจากทีวีก้าวสู่โลกโซเชียลมีเดีย
ข่าวๆ เดียวถูกนำไปเพิ่มมูลค่าด้วยการเสนอต่างแพลตฟอร์ม
ในยุคที่เรียกกันว่า “สื่อยุคหลอมรวม-convergence”

บุคลากรในวงจรสื่อหน่วยหนึ่งที่ได้รับผลกระทบหนักหน่วงไม่แพ้ใคร
นั่นคือ “พนักงานพิสูจน์อักษร” หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ปรู๊ฟ (proof)
ที่ทำหน้าที่หลายคนมองว่า เป็น ผู้ปิดทองหลังพระ ของวงการหนังสือพิมพ์มาอย่างยาวนาน

โดยกลางปี 2555 ผู้บริหารสื่อเครือเนชั่น ได้ตัดสินใจพลิกหน้าที่ “ปรู๊ฟ” ของสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ
จากการคอยเช็คคำถูก-คำผิดบนหน้ากระดาษ ให้มาทำหน้าที่แบ็คอัพทีมงานข่าวโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ต
เพื่อรองรับการขยายตัวของสื่อดิจิตอล

เนื่องจากทางผู้บริหารเห็นว่า กระบวนการผลิตหนังสือพิมพ์มีหลายหน้าที่ซึ่งซ้ำซ้อนกัน
โดยเฉพาะการพิสูจน์อักษร เพราะมองว่ามีการกลั่นกรองคำผิด
ตั้งแต่ชั้น 1.นักข่าว 2.รีไรท์เตอร์หรือหัวหน้าข่าว และ 3.ซับเอดิเตอร์ อยู่แล้ว

เมื่อ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ขยับมาทำสื่อทีวีคู่ไปกับสิ่งพิมพ์
จึงต้องใช้ทีมงานผลิต “คอนเทนต์” เพิ่มเป็นจำนวนมาก
ผู้บริหารเครือเนชั่นจึงตัดสินใจขยับ “พนักงานพิสูจน์อักษร” ในกองหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ที่มีอยู่ราว 10 คน มาทำเบื้องหลัง “กรุงเทพธุรกิจทีวี” แทน เป็นการนำร่อง
ทิ้งให้เหลือ “ปรู๊ฟ” สำหรับหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจไว้เพียง 1 คนเท่านั้น!
โดยให้ทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของคำ เฉพาะหน้าหนึ่ง-หน้าสุดท้าย
และคอยชี้ขาดคำบางคำ เช่น คำราชาศัพท์
ส่วนเนื้อหาด้านใน เป็นหน้าที่ของ “นักข่าว-รีไรท์เตอร์-หัวหน้าข่าว” จะช่วยกันตรวจหาคำผิด
ขณะที่ “ซับเอดิเตอร์” จะต้องนำข่าวมาใส่ไว้ในโปรแกรม  Microsoft Word
ที่หากพบคำที่เขียนผิด จะขึ้นเป็นเส้นหยักสีแดง และเมื่อแก้ไขให้ถูกต้อง ถึงจะนำไปสู่การจัดหน้า

แหล่งข่าวจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวว่า...
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นเพราะผู้บริหารเครือเนชั่นมองว่า
มีบุคคลหลายตำแหน่งที่ทำงานซ้ำซ้อนกัน ในโมเดลแบบใหม่จึงจะให้นักข่าวปรู๊ฟเอง 1 รอบ
รีไรท์ฯ หรือหัวหน้าข่าวปรู๊ฟอีก 1 รอบ และซับฯ ปรู๊ฟอีก 1 รอบปิดท้าย

“ผลกระทบการลดจำนวนพนักงานพิสูจน์อักษร ทำให้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจมีคำผิดมากขึ้น
โดยเฉพาะกรอบแรกที่ต้องส่งไปยังต่างจังหวัด เพราะต้องปิดให้ทันเวลา 1 ทุ่ม 

ส่วนกรอบสองที่ปิดก่อน 4 ทุ่ม จะพบคำผิดหรือคำตกบรรทัดน้อยลง 
เพราะได้ผ่านการตรวจสอบครั้งแต่กรอบแรกมากแล้ว” เขากล่าวถึงผลกระทบ

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเครือเนชั่นมองว่า
โมเดลที่ใช้ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ค่อนข้างประสบความสำเร็จ
จึงเตรียมที่จะใช้โมเดลดังกล่าวไปปรับปรุงการทำงานใน “หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
โดยจะให้ (ว่าที่) อดีตปรู๊ฟไปช่วยงานด้านอินเตอร์เน็ตแทน

***
หลังทราบความเปลี่ยนแปลงของสื่อสิ่งพิมพ์เครือเนชั่น ในเวลาต่อมา
เราก็เดินทางไปที่สำนักงานสื่อแห่งหนึ่งริมถนนวิภาวดี
เพื่อสอบถามว่า สื่อสิ่งพิมพ์ที่มีคนอ่านมากที่สุดในประเทศ ด้วยยอดจำหน่ายกว่าล้านฉบับ
อย่าง “หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” ได้เตรียมรับมือกับโลกที่เปลี่ยนไปนี้อย่างไร?

ภิญโญ ทุมมานนท์ ฝ่ายประสานงานกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
ผู้ควบคุมการพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์ที่มียอดพิมพ์ล้านฉบับทั้ง 6 กรอบ ซึ่งเริ่มต้นกล่าวว่า
ไทยรัฐให้ความสำคัญกับกองพิสูจน์อักษร เพราะเป็นงานที่ละเอียดอ่อน
ที่สำคัญ ยังมองว่าเป็นหน้าตาขององค์กร
เขาให้ภาพว่า ในกองพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์หัวเขียว
มีลมหายใจของ “นักพิสูจน์อักษร” ทั้งสิ้น 22 ชีวิต รวมกับหัวหน้ากองอีก 2 คน
โดยจะแบ่งการทำงานออกเป็น 3 กะ ซึ่งแต่ละกะคนจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับช่วงเวลา
โดยเวลา 18.00 น. ถึงเวลา 01.00 น. จะเป็นช่วงเวลาที่งานของกองพิสูจน์อักษรมากที่สุด
ซึ่งจะมีคนตรวจปรู๊ฟยืนพื้น 12-13 คน ส่วนช่วงเวลาหลังจากนั้น
จะลดจำนวนคนลงเหลือเพียง 5-6 คน เอาไว้คอยเก็บงาน
“การตรวจปรู๊ฟของไทยรัฐไม่มีสิ้นสุด เพราะเรามีถึง 6 กรอบ ตั้งแต่ 1 ดาวถึง 6 ดาว
ซึ่งเนื้อหาจะเปลี่ยนไปตามแต่ละภูมิภาค ทำให้ปรู๊ฟต้องทำงานตลอดเวลา”


ภิญโญ ยังอธิบายว่า พนักงานพิสูจน์อักษรของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
จะต้องมีความรู้รอบด้าน และอ่านหนังสือให้มาก
เพราะเป็นนโยบายของผู้ใหญ่ เนื่องจากคำเฉพาะบางคำที่นักข่าวเขียนมาผิด เมื่อไม่รู้ว่าหมายถึงอะไร
บางครั้งก็ปล่อยให้ผ่านไปเลย จึงต้องสะสมองค์ความรู้ไว้กับตัวให้มาก เพราะบางคำแค่ขยับไปนิดเดียว
ความหมายก็จะเปลี่ยนไป หรือการเว้นวรรค-ไม่เว้นวรรค หลายครั้งก็มีความสำคัญ

“ที่สำคัญ เราจะฝึกให้ปรู๊ฟทุกคนจำหน้าแหล่งข่าว ว่าใครเป็นใครให้ได้ 
คนดังๆ ของโลกต้องรู้จัก รวมถึงยศ ตำแหน่ง สายงานราชการ จะต้องรู้ 
เพราะบางครั้งเด็กเรียงพิมพ์อาจรับต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของคอลัมนิสต์
มาพิมพ์ลงคอมพิวเตอร์ แล้วอาจพิมพ์ชื่อหรือยศผิด หรือเรื่องตัวเลขก็มีความสำคัญ
ปรู๊ฟบางคนไม่มีความเข้าใจ ก็คิดว่าเขาใส่มาเท่านี้ ก็คือเท่านี้ ทั้งที่จริงๆ นักข่าวอาจจะเขียนผิด”


เขายังกล่าวถึงวิธีการฝึกเด็กใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในกองพิสูจน์อักษรของ “ไทยรัฐ” ว่า
ตามปกติจะต้องถูกฝึกอย่างน้อย 5 เดือน ถึงจะสามารถปล่อยให้ตรวจอักษรโดยลำพังได้
เพราะลักษณะงานเช่นนี้ ค่อนข้างละเอียดอ่อน
หากปล่อยให้มีคำผิดหลุดรอดไปบ่อยๆ อาจทำให้เกิดความเสียหายตามมา

ภิญโญยังกล่าวว่า...
ไม่เพียงเขียนผิด หรือใส่ชื่อ ยศ หรือตำแหน่งไม่ถูกต้องเท่านั้นที่สามารถทักท้วงได้
แม้กระทั่งพาดหัวไม่ตรงกับเนื้อหา หรือใส่รูปภาพไม่ตรงกับเนื้อหา 

คนที่มีหน้าที่พิสูจน์อักษรของไทยรัฐก็สามารถทักท้วงได้เช่นกัน

ทั้งนี้ ทุกกระบวนการของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐจะต้องพิถีพิถัน เริ่มจาก
1. กระบวนการโต๊ะข่าวหน้าหนึ่ง ส่งต้นฉบับให้พนักงานเรียงพิมพ์เข้าหน้าตามดัมมี่ที่ฝ่ายศิลป์ออกแบบ
2. ปรู๊ฟตรวจจับคู่กัน อีกคนหนึ่งอ่าน อีกคนหนึ่งตรวจคำผิด ก่อนส่งต่อให้พนักงานเรียงพิมพ์จัดเข้าหน้าเต็ม
3. ปรู๊ฟตรวจหน้าใหญ่เป็นขั้นตอนสุดท้าย ก่อนส่งไปยิงฟิล์ม และเข้าสู่ขั้นตอนการจัดพิมพ์

นอกจากนี้ ข่าวทุกชิ้นที่ผ่านกองบรรณาธิการแล้ว
ยังต้องส่งสำเนาอีก 2 ชุดมายังกองพิสูจน์อักษร โดยชุดหนึ่งจะมาอยู่ที่โต๊ะของภิญโญ
อีกชุดไปอยู่ที่โต๊ะของ สราวุธ วัชรพล หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
เพื่อตรวจสอบดูความรอบคอบคู่ขนานไปด้วย
“คุณสราวุธเขาจะมอนิเตอร์ข่าวทุกวัน ถ้ามาดูแล้วเห็นว่า อ้าว! ไม่ใช่นะ ไม่ตรงกับที่รู้มา ก็จะให้แก้ไข
ท่านดูทุกหน้า อ่านเป็นปึกๆ อ่านผ่านๆ ตา เพราะมันเคยผิดบ่อยๆ จึงต้องระวังเยอะขึ้น”
ภิญโญเล่า

เขายังกล่าวว่า พนักงานพิสูจน์อักษรไม่ใช่ตำแหน่งปิดทองหลังพระ
ไม่ใช่คนสำคัญที่มาเกี่ยวข้องกับงานข่าว เหมือนนักข่าว
แต่ก็เป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเพราะทำให้งานหนังสือพิมพ์มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
“ยอมรับว่า สื่อสิ่งพิมพ์ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวให้รับกับความเปลี่ยนแปลง 
แต่เนื่องจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เป็นหนังสือพิมพ์สำหรับชาวบ้าน
การปรับตัวของที่นี่จึงอาจจะทำแบบค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป 

และคงใช้เวลาอีกนานกว่าจะเปลี่ยนไปแบบที่เครือเนชั่นทำ” ภิญโญกล่าว

โลกของการสื่อสารผันเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยี จากเดิมที่ใช้คน ม้า นกพิราบ ดินเหนียว หนังสัตว์
กระดาษปาปิรุส เยื่อไผ่ มาจนเป็นกระดาษ และกลายเป็นสัญญาณไฟฟ้า เช่นปัจจุบัน

และแม้กระบวนการพิสูจน์อักษร จะได้รับการพิสูจน์แล้วว่า
มีความสำคัญต่อการทำให้ “สาร” ที่ถูกส่งออกไป ไม่ “คลาดเคลื่อน” จากความเป็นจริง
แต่ท่ามกลางภาวะปัจจุบัน องค์กรหลายๆ แห่งอาจจะต้องหาวิธีปรับตัว
เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่หลั่งไหลเข้ามาดั่งสึนามิ

พนักงานพิสูจน์อักษรอาจถูกมองได้ทั้งเป็นผู้ไร้ความสำคัญทำงานซ้ำซ้อนกับตำแหน่งอื่นๆ 
หรือเป็นผู้ทำให้หนังสือพิมพ์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ไม่มีใครรู้ว่า มุมมองแบบไหนถูกหรือผิด คงจะต้องปล่อยให้เวลาคลี่คลายคำเฉลยออกมาเอง...

-----
เขียนโดย ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ 
ตีพิมพ์ครั้งแรกใน "จุลสารราชดำเนิน" ฉบับที่ 25 ประจำเดือน ม.ค.-มี.ค. 2556

ที่มา : สำนักข่าวอิศรา



5 มีนาคม 2556

คนที่มีค่าที่สุดในชีวิต

ผ่านไปแล้วกับผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ก็ขอแสดงความยินดีกับผู้สมัครที่ได้รับความไว้วางใจและคะแนนเสียงให้ดูแลเมืองหลวง
หวังใจว่าอีก ๔ ปีนับจากนี้ไป...กรุงเทพฯ คงมีสุขภาพที่ดีขึ้น งามขึ้น และน่าอยู่มากขึ้น

Open Life บล็อกที่บรรเลงร่ายแบบเงอะงะ ขรุขระ สะเปะสะปะ และไร้ศิลปะ
คิดๆ อยู่ว่าจะอัพเดทเรื่องอะไรดี? เรื่องปลวกกัดกินหนังสือที่เคยเกริ่นๆ ก็อยากพักไว้ก่อน
เท่าๆ ที่สมองขี้เลื่อยน้อยๆ คิดออกก็อยากเขียนถึงเรื่อง "งานฟรีแลนซ์" เกี่ยวกับหนังสืออีก
ประมาณว่า...ถ้าอยากทำงานฟรีแลนซ์ เป็นฟรีแลนซ์แห่งการงานจริงๆ จะเริ่มต้นยังไง และหางานที่ใด
ไม่ใช่การทำงานผ่านเน็ตวันละสองสามชั่วโมง หรือประชาสัมพันธ์ทางออนไลน์
หรือเจ้าหน้าที่โปรโมทสื่อโฆษณา หรืองาน Online ส่งเมล หรือจะโอนเงินให้ทุกวันที่นั้นที่นี้
โอ้ย...สมอง ไฉนเมลแบบนี้ขยันส่งกันมาจริงๆ ส่งมาได้ทุกๆ วันซะด้วย (เห้ออออ)

วันนี้...ได้อ่านข้อความที่แชร์มาจาก facebook 
เรื่องหนึ่งที่ให้รู้สึกอบอุ่นในหัวใจ เอมอาบในอารมณ์
จำได้เลาๆ ว่าเคยอ่านผ่านๆ ตามาแล้ว เมื่ออ่านจบ--
ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ผมอยากทำงานฟรีแลนซ์อยู่กับห้อง 
หรืออยู่กับบ้าน แม้นผมจะยังไม่มีเมีย ไม่มีลูกก็ตาม ทว่ามีคนรัก
ทว่าก็เล็งเห็นและให้ความสำคัญกับสถานะความเป็นครอบครัว
หลายคนอาจอยู่นอกบ้านมากกว่าในบ้าน 
หรือทำงานหนักเหนื่อยจนไม่มีเวลาให้กับลูกๆ

มาอ่านเรื่องราวที่เกริ่นๆ กันเถอะ ซึ่งชื่อเรื่องคือ 20 เหรียญ กับคนที่มีค่าที่สุดในชีวิต
เพราะเท่าที่ลองค้นๆ ดูนั้น เรื่องสั้นๆ นี้น่าจะมาจากหนังสือ ความรักทรงกลม  

***

ชายหนุ่มคนหนึ่งเลิกงานและกลับเข้าบ้านช้า ด้วยความเหน็ดเหนื่อยอ่อนล้า
และพบว่าลูกชายวัย 5 ขวบรอคุณพ่ออยู่ที่หน้าประตู

ลูก "พ่อครับ ผมมีคำถามถามพ่อข้อหนึ่งน่ะ"
พ่อ "ว่ามาสิลูก, อะไรเหรอ"
ลูก "พ่อทำงานได้เงินชั่วโมงละเท่าไหร่"
"ไม่ใช่กงการอะไรของลูกนี่, ทำไมถามอย่างนี้ล่ะ" พ่อตอบด้วยความโมโห
"ผมอยากรู้จริงๆ โปรดบอกผมเถอะ พ่อทำงานได้เงินชั่วโมงละเท่าไหร่" ลูกพูดร้องขอ
พ่อ "ถ้าจำเป็นจะต้องรู้ละก็ พ่อได้ชั่วโมงละ 20 เหรียญ"
"โอ.." ลูกอุทานพลันคอตก แล้วพูดกับพ่ออีกครั้ง
ลูก "พ่อครับ ผมอยากขอยืมเงิน 10 เหรียญ"
พ่อกล่าวด้วยอารมณ์
พ่อ "นี่เป็นเหตุผลที่แกถาม เพื่อจะขอเงิน แล้วไปซื้อของเล่นโง่ๆ
หรืออะไรที่ไม่เข้าท่าหรอกเหรอ รีบขึ้นไปนอนเลยนะ แล้วลองคิดดูว่าแกน่ะ
เห็นแก่ตัวมาก พ่อทำงานหนักตั้งหลายๆ ชั่วโมงทุกวัน
และไม่มีเวลาสำหรับเรื่องเด็กๆ ไร้สาระอย่างนี้หรอก"

เด็กน้อยเงียบลง ก่อนจะเดินขึ้นไปที่ห้องนอนแล้วปิดประตู 
ชายหนุ่มนั่งลงและยังโกรธอยู่กับคำถามของลูกชาย 
ลูกกล้าที่จะถามคำถามนั้น เพื่อจะขอเงินได้อย่างไร
หลังจากนั้นเกือบชั่วโมงอารมณ์ชายหนุ่มก็เริ่มสงบลง 

และเริ่มคิดถึงสิ่งที่ทำลงไปกับลูกชายตัวน้อย 
บางทีลูกอาจจำเป็นต้องใช้เงิน 10 เหรียญนั้นจริงๆ
และลูกก็ไม่ได้ขอเงินเขาบ่อยนัก ชายหนุ่มจึงเดินขึ้นไปบนห้องนอนของลูกแล้วเปิดประตู


พ่อ "หลับหรือยังลูก"
ลูก "ยังครับ"
พ่อ "พ่อมาคิดดู เมื่อกี้พ่ออาจทำหรือพูดรุนแรงกับลูกเกินไป
นานแล้วนะที่พ่อไม่ได้คลุกคลีกับลูก เอ้า นี่เงิน 10 เหรียญที่ลูกขอ"
เด็กน้อยลุกขึ้นนั่งอย่างดีใจ
ลูก "ขอบคุณครับพ่อ"

ว่าแล้วลูกชายก็ล้วงลงไปใต้หมอนหยิบเงินจำนวนหนึ่งออกมา แล้วนับช้าๆ
ผู้เป็นพ่อเห็นดังนั้นก็โกรธขึ้นมาอีกครั้ง
พ่อ "ก็มีเงินแล้วนี่ แล้วมาขออีกทำไม"
ลูก "เพราะผมมีไม่พอครับ แต่ตอนนี้ผมมีครบแล้ว
พ่อครับ ตอนนี้ผมมีเงินครบ 20 เหรียญแล้ว ผมขอซื้อเวลาพ่อชั่วโมงหนึ่ง
….พรุ่งนี้พ่อกลับบ้านเร็วๆ นะครับ ผมอยากกินข้าวเย็นกับพ่อ…"

***

ชีวิตของคนเราเติบโตขึ้นมาด้วยการหล่อเลี้ยงของความอาทร และความเกื้อกูลซึ่งกันและกันมากมาย
เมื่อเราลืมตาดูโลก ก็เห็นรอยยิ้มต้อนรับอันอบอุ่นและละมุนใจของผู้เป็นพ่อแม่ของเรา
ความรักของท่านกลั่นจากหัวใจที่ขยายกว้างไม่มีที่สิ้นสุด
เหมือนดั่งทรงกลมที่ขยายจากศูนย์กลาง กว้างออกไปได้เรื่อยๆ จึงให้ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
ให้อย่างไร้ข้อแม้ ให้อย่างไร้เงื่อนไข และให้อย่างไร้กาลเวลา
ความรักของพ่อแม่จึงเป็นรักแท้ที่บริสุทธิ์ ใส สะอาด โดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน
ส่งใจส่งความรักถึงท่าน แล้วน้อมเคารพบูชาท่าน ด้วยการมอบสิ่งดีๆ ให้ท่านอย่างสุดหัวใจ
เพราะท่านเป็นดั่ง “พระในบ้าน” ของลูก

.