20 มิถุนายน 2556

เมื่อตลาด 'บรรณาธิการ' ขาดแคลน

เป็นบทความตั้งแต่ช่วงใกล้ๆ ปลายปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ซึ่งน่าสนใจและน่าเฝ้ามอง
จึงใคร่อยากนำเอามาแบ่งปันลงในบล็อกน้อยๆ นี้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งที่อยากมีส่วนร่วมบ้าง

เมื่อตลาด 'บรรณาธิการ' ขาดแคลน
โดย : ปริญญา ชาวสมุน




ใครจะเชื่อ --- หากบอกว่า "บรรณาธิการกำลังขาดแคลน"
ทั้งที่เราๆ ท่านๆ ก็ยังเห็นตำแหน่งนี้เด่นหราท้ายชื่อคนมากมายบนหน้ากระดาษ

'500' คือ จำนวนบรรณาธิการที่วงการหนังสือประเทศไทยต้องการตลอด 5 ปีที่ผ่านมา
'10 กว่าๆ' คือ จำนวนบรรณาธิการที่วิชาบรรณาธิการผลิตออกมาได้
แต่ที่น่าตกใจ คือ 10 กว่าคนนั้น เป็นบรรณาธิการจริงๆ ได้เพียงไม่กี่คน!

หลายคนอาจสงสัย ไม่เข้าใจว่าทำไมตัวเลขเหล่านี้จึงน้อยเสียเหลือเกิน
ทั้งๆ ที่เกือบทุกมหาวิทยาลัยมีสาขาวิชาอันเกี่ยวข้องกับ 'หนังสือ'
ไม่ว่าจะเป็นวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ ถ้าหากพิจารณาอย่างถ่องแท้แล้ว
วิชาชีพบรรณาธิการมิได้เปิดสอนกันแพร่หลาย หนำซ้ำยังมีเพียงไม่กี่แห่งที่ยอมเปิดสอน

หากไม่นับรวมสาขาวิชาดังกล่าว เห็นจะมีเพียงจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยบูรพาเท่านั้น
ที่มีหลักสูตรบรรณาธิการโดยตรง สำหรับจุฬาลงกรณ์ฯ ขณะนี้ยังเป็นเพียงวิชาโท ในคณะอักษรศาสตร์
แต่สำหรับ ม.บูรพา ก็เป็นวิชาเอกในคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ถึง 6 ปีแล้ว
แต่มีนักศึกษารวมกันไม่กี่สิบคน

จากการสำรวจเมื่อปี 2548 โดยสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย
พบว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า สำนักพิมพ์ทั่วประเทศไทยจะต้องการบรรณาธิการถึง 500 ตำแหน่ง
ทว่าจากปีนั้นจนบัดนี้ หลักสูตรบรรณาธิการทั้งวิชาเอกและโท
มีคนจบการศึกษาไปได้เพียง 10 กว่าคนเท่านั้น
แต่สาขาวิชาต่างๆ ที่สอนเกี่ยวกับการผลิตสิ่งพิมพ์ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ หรือนิตยสาร
ก็มีวิชาว่าด้วยบรรณาธิการประกอบอยู่ด้วยทั้งสิ้น ทว่าจะมุ่งเน้นไปในทางสื่อเหล่านั้นเสียมากกว่า

รองศาสตราจารย์ ธัญญา สังขพันธานนท์ หรือที่รู้จักกันดีในนาม ไพฑูรย์ ธัญญา
นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2530 ซึ่งขณะนี้เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย
คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
บอกว่า ในสาขาวารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์ ก็มีวิชาเกี่ยวกับการบรรณาธิกรอยู่แล้ว 1-2 วิชา
อาจเป็นแบบรวบรัด ซึ่งไม่เหมือนวิชาเอกโดยตรง แต่เขาก็มองว่าน่าจะเพียงพอ

สำหรับผู้บุกเบิกและช่ำชองวิชาบรรณาธิการอย่าง มกุฏ อรฤดี มองว่า
มีหลายสิ่งที่แยกวิชาบรรณาธิการออกจากสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องเหล่านั้นได้
คือ หลักสูตร วิธีคิด และวิธีทำงาน
"วารสารกับหนังสือ เรียนต่างกัน วิธีคิดก็ต่างกัน วิธีทำงานก็ไม่เหมือนกันด้วย
เมื่อไม่เหมือนกัน ก็ทำงานลำบาก ต้องปรับตัว เช่น 

เรียนนิตยสาร หรือหนังสือพิมพ์ ความคิดหลักต่างกัน
พอต่าง จะให้เขาปรับความรู้สึกภายในก็ลำบาก เช่น นิตยสารก็จะคิดถึงความสวยงามก่อน เป็นต้น"


ดังนั้นการสอนวิชาชีพบรรณาธิการจริงๆ จึงไม่ได้มีทุกที่ แต่ในทางกลับกัน
คนที่เรียนบรรณาธิการก็อาจไม่รู้เรื่องการผลิตหนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสาขาวิชาต่างๆ อย่างถ่องแท้เช่นกัน

หากย้อนเวลากลับไปประมาณ 50 ปีก่อน ในยุคที่หนังสือเริ่มเฟื่องฟู
ตั้งแต่ยุคนั้น คนทำหนังสือส่วนมากจะมาจากสาขาวิชาอื่น
เช่น นิติศาสตร์ วารสารศาสตร์ สื่อสารมวลชน มนุษยศาสตร์ ฯลฯ
ซึ่งทุกคนต่างมีความรู้ในแขนงของตน
แต่ด้วยความชอบพอหนังสือ จึงก้าวเข้ามาทำหนังสือ
ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ หนังสือที่ได้ ขาดความเป็นหนังสือ --- กระทั่งทุกวันนี้

"เขามาทำหนังสือด้วยความรู้อย่างหนึ่ง มาทำด้วยความรักอย่างหนึ่ง
มาทำในเรื่องความคิดอีกอย่างหนึ่ง
เพราะฉะนั้น มันไม่มีตัวของตัวเองเลย ไม่มีอะไรที่เป็นหนังสือเลย เขาถึงต้องมาเรียนรู้ใหม่
บางคนทำหนังสือมาหลายสิบปีแล้วยังไม่รู้เลยว่าหมึกพิมพ์อันตราย มีสารก่อมะเร็ง
เขายังไม่รู้เลยว่าขอบหนังสือที่เว้นไว้ข้างๆ เว้นไว้เพื่ออะไร" มกุฏกล่าว

นี่คือผลลัพธ์จากการลองผิดลองถูก หากผิดพลาดผลกระทบสู่วงกว้างจะมากมายเหลือคณานับ
ชิ่งแรกคือ 'คนอ่าน' อาจต้องรับสารพิษสู่ร่างกายอย่างปฏิเสธไม่ได้
ชิ่งต่อไป คือ 'สังคม' ที่พยายามบอกกันว่า 'สังคมอุดมปัญญา' แล้วทั้งหมดก็พากันลงหลุม---

"เมื่อเขาไม่ได้เรียนมา ก็จะทำผิดๆ บางครั้งที่ทำผิดไป แต่บังเอิญคนทำหนังสือเล่มนั้นมีชื่อเสียง
หรือสำนักพิมพ์มีชื่อเสียง ความผิดนั้นก็กลายเป็นความผิดที่คนอื่นเอาอย่าง
มาตรฐานหนังสือของเราจึงด้อยกว่าชาติอื่นๆ ที่เรียนมาด้านนี้
เป็นที่ขบขันมากว่าทำไมหนังสือในประเทศเราพิมพ์สีดำเต็มไปหมดเลย
เลขหน้าก็เอาไปไว้ที่อื่น นี่ยังไม่รวมกรณีอื่นๆ ที่แปลกประหลาดพิดาร
ถ้าเราเรียนรู้ เราก็จะทำหนังสืออย่างถูกต้อง
นอกจากคนอ่านได้ประโยชน์ทางเนื้อหาก็จะได้ประโยชน์จากรูปแบบด้วย
ตาไม่เสียไว มะเร็งก็ไม่กินปอด ไม่เจ็บป่วยเนื่องจากใช้กระดาษผิดประเภท
ถ้าเราเรียน ทันทีที่จบมา ก็จะทำหนังสือได้ถูกต้องในกรอบของมันเลย
เรื่องการสร้างสรรค์มันมาทีหลัง หรืออาจมาพร้อมๆ กัน อย่างน้อยที่สุดก็มีความรู้พื้นฐาน
มีข้อห้ามอะไรบ้างในการทำหนังสือ มีข้อบังคับอะไรบ้างที่ควรทำ"

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีคนหลายกลุ่มเชื่อว่าตัวเลขบรรณาธิการที่ประเทศไทยต้องการ
ซึ่งกำลังว่างโหว่นั้นถูกเติมให้เต็มแล้วด้วยบรรณาธิการมากหน้าหลายตา
ที่เราเห็นกันดาษดื่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงปฏิเสธอีกไม่ได้เช่นกันว่า
มีบรรณาธิการหลายคนสั่งสมประสบการณ์กระทั่งเป็นบรรณาธิการจริงๆ ได้
 -- แต่ไม่ใช่ทุกคน


ธัญญาอธิบายว่า เขาเชื่อว่าวิชาบรรณาธิการเรียนกันได้
และคนเรียนก็จะมีหลักยึดดีกว่าคนไม่ได้เรียน แต่สิ่งที่เขาเชื่อยิ่งกว่า
คือ 'ประสบการณ์' จะสร้างให้เป็นบรรณาธิการที่ดีได้

"คนที่จบปริญญาตรีสี่ปี มันไม่มีประสบการณ์มากพอที่จะมาเป็นบรรณาธิการเลย
และผมก็คิดว่าตลาดคงไม่รับบรรณาธิการในเอกนี้โดยตรงทันที คนที่จะเป็นบรรณาธิการได้
ต้องเขียนหนังสือได้ด้วย ต้องผ่านงานพวกนี้มา มันต้องทำงานมาหลายปี
ผมว่าประสบการณ์เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเราต้องการบรรณาธิการที่ดีต้องมีประสบการณ์
ส่วนหนึ่งก็ต้องมีหลักความรู้ แน่นอนว่าสอนน่ะได้หลักความรู้
แต่ประสบการณ์ล่ะ ไปฝึกงานเทอมเดียวมันไม่พอ"


ด้าน มกุฏกล่าวว่า "มีบางคนพยายามบอกว่าสิ่งเหล่านี้เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
แต่ถ้าเรียนรู้ด้วยตัวเอง หนึ่ง ใช้เวลานาน สอง ไม่มีตำราเหล่านี้หรอก
เพราะฝรั่งที่เขาทำหนังสือ ไม่จำเป็นต้องเรียน มันอยู่ในสายเลือดของเขา รู้เห็นโดยธรรมชาติ
เหมือนการกินข้าว ก็รู้ว่ากินข้าว ไม่ต้องมาวิเคราะห์เลยว่ากินกี่นาที กี่คำ"

แต่เขาก็ไม่ได้ตัดสินว่าคนที่ไม่ได้เรียนวิชาบรรณาธิการจะทำหนังสือดีไม่ได้
เพราะสิ่งที่คนทำหนังสือส่วนมาก ทั้งที่เรียนมาและไม่ได้เรียนมามีอยู่เต็มเปี่ยม
คือ 'ความปรารถนาดีและความรักหนังสือ'

"เราไม่ปฏิเสธนะว่าพวกเขาทำด้วยความปรารถนาดี คนพวกนี้ทำเพราะรักหนังสือทั้งนั้น
เหมือนกับที่ผมเข้ามาด้วยความรักหนังสือ แต่กว่าจะเรียนรู้ได้ มันใช้เวลาตั้ง 25 ปี
ถ้าเผื่อรู้ก็รู้ไป แต่ถ้าไม่รู้แล้วทำแบบผิดๆ คนอ่านก็ได้รับสิ่งผิดๆ
ก็อาจเป็นผลเสีย เสียหาย เป็นพิษภัยในบางเรื่อง อันตรายในบางสิ่ง ทั้งรูปแบบทั้งเนื้อหา"


บรรณาธิการที่ขาดแคลนในสายตาของ มกุฏ คือ คนที่เข้าใจ และรู้เรื่องบรรณาธิการจริงๆ
ซึ่งก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับ ธัญญา ได้พูดถึง
ภาวะขาดแคลนบรรณาธิการซึ่งกระทบต่อวงการหนังสือบ้านเราเป็นวงกว้าง

"ผมคิดว่าบรรณาธิการหนังสือเล่มยังขาด ในแวดวงหนังสือยังมองว่าใครก็ได้ที่เขียนหนังสือได้บ้าง
และอ่านหนังสือมากก็เป็นบรรณาธิการได้ มันจึงมีปัญหาว่า
นักเขียนที่เขียนเรื่องสั้นหรือนวนิยายต้องการบรรณาธิการมากๆ เลย
จากประสบการณ์ของผมคือเนื่องจากมีประกวดวรรณกรรมเยอะมาก
บางรางวัลก็รับต้นฉบับสดๆ หมายถึงไม่ต้องเป็นหนังสือเล่มมาเลย อย่างเช่น
ที่เห็นในรางวัลซีไรต์ซึ่งผมไปเป็นกรรมการ ได้อ่านหนังสือทุกเล่ม
บางเรื่องถ้ามีบรรณาธิการดีๆ จะไปได้ดี นักเขียนบางทีก็ล้นไป ขาดไป
เพราะไม่มีบรรณาธิการ บางคนทำหนังสือเอง
เดี๋ยวนี้นักเขียนทำหนังสือเองได้แบบ on demand ก็เป็นการตัดกระบวนการทำหนังสือ
บางคนให้เพื่อนฝูงเป็นให้ ยังไม่มีประสบการณ์หรือยังไม่แก่กล้าพอ
มันไม่เหมือนยุคสมัยผม ที่ยังไงก็ไม่มีวันได้ทำหนังสือเองหรอก ต้องผ่านสำนักพิมพ์
แน่นอนสำนักพิมพ์เขามีบรรณาธิการ จากประสบการณ์ผมเป็นบรรณาธิการคนอื่นได้
แต่ผมเป็นบรรณาธิการตัวเองไม่ได้ เพราะเรามองคนละแบบกัน
ตอนนี้เรามีปัญหาอย่างหนึ่งทำให้วรรณกรรมบ้านเราไม่ดี 

คือบ้านเราขาดบรรณาธิการหนังสือเล่มที่มีฝีมือ"

ทั้งที่สำนักพิมพ์ก็ต้องการบรรณาธิการมากมาย และมีหลักสูตรเปิดสอนกันเป็นเรื่องเป็นราว
แต่ทำไมคนถึงไม่ไปเรียน? นี่อาจเป็นคำถามซึ่งยากแก่การหาคำตอบ
เพราะเมื่อใช้เหตุและผลเพื่อหาคำตอบ ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่คนอยากทำหนังสือแล้วไม่ไปเรียน

หรือเพราะวิชาว่าด้วยการทำหนังสือยากเกินไป---

บรรณาธิการใหญ่แห่งสำนักพิมพ์ผีเสื้อพูดถึงสาเหตุของกรณีนี้ว่า แท้จริงวิชาบรรณาธิการไม่ได้ยาก
แต่ไม่เคยมีใครสอน เมื่อไม่มีใครสอนก็จะกลับไปสู่วังวนเดิมที่ได้กล่าวไปข้างต้น
คือ คนทำหนังสือก็จะทำผิดๆ ถูกๆ โดยเขาเปรียบเปรยว่าวิชาบรรณาธิการก็ไม่ต่างจากชาวประมง

"ชาวประมงต้องมีความรู้ในการจับปลา เขาอาจเรียนรู้มาจากพ่อแม่ จากบรรพบุรุษ หรือจากตัวเอง
แต่อย่างน้อยที่สุดเขาเรียนมา เขารู้ว่าควรไปจับตรงไหน ควรเดินเรืออย่างไร
สังเกตท้องฟ้าอย่างไร สังเกตน้ำอย่างไร ท้ายที่สุดเขาก็จับปลาได้ แต่ถ้าเราอยากจับปลา
แต่ไม่เคยรู้เลย ไม่มีใครสอนเรื่องจับปลา เราก็ไปซื้อเรือมา แล้วลงไปจับปลา
เราอาจใช้เวลามากกว่าเขาเพื่อจะได้เท่าเขา หรืออาจจะไม่ได้เลย
เท่ากับว่า คนที่ไม่รู้เรื่องจะสูญเสียมากกว่าจะได้ แทนที่จะได้ปลา ก็สิ้นเปลืองน้ำมัน
อาจเจอพายุ เรือล่มตาย หรืออาจจับปลาที่มีพิษมาขาย คนกินเข้าไปก็ตาย"

อาชีพทำหนังสือก็ไม่ได้แตกต่างจากอาชีพอื่น แต่พิเศษกว่าตรงที่ ไม่ว่าจะสาขาวิชาใด
ด้วยหลักสูตรที่เป็นวิชาการ หนีไม่พ้นจะต้องใช้หนังสือทั้งสิ้น
คนที่ทำหนังสือนั้นก็คือบรรณาธิการ แต่ปัญหาจะเกิดขึ้นเมื่อคนที่ทำหนังสือไม่รู้เรื่องหนังสือเลย
ตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงรายละเอียด แน่นอนว่าย่อมผิดพลาด และไม่น่าเชื่อถือ สิ่งที่เด็กเรียนรู้ก็ย่อมผิดตาม

"บรรณาธิการที่ดีต้องมีสำนึกรับผิดชอบถึงคนอ่าน 
เขาได้อะไร มีประโยชน์ไหม แล้วเรื่องอื่นค่อยตามมา
เมื่อมีความสำนึกรับผิดชอบดีแล้ว รู้ว่าจำเป็นต้องผลิตหนังสือแล้ว เช่น
ได้ต้นฉบับนิยายโรมานซ์มาเรื่องหนึ่ง บรรณาธิการที่ดีต้องถามว่า
ถ้าเราพิมพ์หนังสือเล่มนี้ คนอ่านจะได้อะไร 

สมมติว่าพยายามตอบแล้วว่าคนอ่านได้อะไรก็ว่าไป
ต้องตั้งคำถามต่อตัวเองว่ามันจำเป็นต้องพิมพ์ไหม
บรรณาธิการที่ดีต้องตั้งคำถามครั้งแล้วครั้งเล่าถึงคนอ่าน 

และผลที่เกิดขึ้นต่อสังคม" มกุฏกล่าว

ในประเทศจีนมีมหาวิทยาลัยถึง 48 แห่งที่เปิดสอนเรื่องทำหนังสือ ตั้งแต่ปริญญาตรีจนถึงเอก
ในฝรั่งเศส เยอรมนี ก็เปิดสอนเป็นเรื่องเป็นราว เพราะรัฐบาลประเทศเหล่านั้นมองว่าจำเป็นมาก
เพราะเมื่อก่อนเขาก็ทำหนังสือไปเรื่อยเปื่อย แต่เมื่อศึกษาต่อมาๆ ก็พบว่า
คนที่ทำหนังสือเพื่อการค้า ก็จะนึกถึงแต่เรื่องการค้า ถ้าข้อมูลผิดไปสักหน่อยก็ละเลย
แทนที่จะเก็บหรือแก้ก็ปล่อยไป เพราะการเก็บหนังสือทำลายต้องเสียเงินเป็นแสน
ยิ่งถ้าผิดในหนังสือวิชาการ หนังสือความรู้ ผลกระทบย่อมทวีคูณ หรือแม้แต่เขียนแผนที่ผิด
อาจจะทำให้คนอ่านตายได้ เขาอาจตกเหว นี่น่าจะเป็นเรื่องที่ควรเรียนควรสอนทั้งสิ้น

ไหนๆ ประเทศไทยก็จะได้เป็นเมืองหนังสือโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
การผลิตคนทำหนังสือดีๆ ให้เหมือนกับประเทศที่มีวัฒนธรรมการอ่านหนังสือเป็นเลิศอย่างจีน ฝรั่งเศส
หรือเยอรมนีก็เป็นเรื่องที่ผู้หลักผู้ใหญ่ควรเหลียวมองสักนิด
แรกเริ่มอาจกระตุ้นให้เปิดสอนมากขึ้นในทุกภูมิภาค  ยิ่งเริ่มต้นได้เร็วเท่าไร
ประเทศไทยก็จะมีระบบหนังสือดีเร็วขึ้นเท่านั้น สักวันเราอาจมีหนังสือดี มีคนอ่านหนังสือเพิ่มขึ้น
มีวัฒนธรรมการอ่านที่แท้จริง และมีคนทำหนังสือดีเพิ่มขึ้น

แต่เมื่อต้องพึ่งรัฐบาลให้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรง คงมีเสียงบ่นเกรียว และสบประมาทว่าคงเป็นไปไม่ได้
หากจะเปรียบเทียบกับเมื่อก่อนครั้งที่หมอในประเทศไทยยังมีน้อย ไม่เพียงพอต่อการรักษาคนป่วย
วันหนึ่งคนป่วยก็ออกมาร้องเรียนว่าหมอขาดแคลน รัฐบาลมองเห็นว่าเป็นจริงและจำเป็น
ทุกวันนี้แทบทุกมหาวิทยาลัยเปิดสอนแพทยศาสตร์ ผลิตหมอปีหนึ่งๆ ได้มหาศาล

คนในวงการหนังสือก็คล้ายคนป่วย ต้องออกมาร้องเรียน เพราะตอนนี้ 'บรรณาธิการกำลังขาดแคลน!'

อ้างอิงจาก : Life Style : Read & Write / bangkokbiznews.com

.