31 มกราคม 2556

ค่าจ้างงานพิสูจน์อักษร Freelance จบ

ในที่สุดก็สิ้นเดือนอีกแล้ว     โอ้...ขวัญแก้วจอมใจในดวงจิต
อันความเป็นอยู่...ฤดูชีวิต     ยังหาเงินได้น้อยนิด มิรู้ทิศทาง
อาชีพฟรีแลนซ์แสนร้าวลึก   ยามเปลี่ยวดึกยังคร่ำเคร่งเพ่งตาถ่าง
ตรวจพิสูจน์อักษรก่อนรุ่งราง หลายคราอ่านถึงสว่าง ฟ้าเรืองรอง...

นี่แหละหนอ...กับวิถีที่เลือกเดินในอาชีพอิสระซึ่งยังไม่ลงตัวหรือใกล้เห็นแววเติบโตในอันใกล้
ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ทั้งภายนอกและภายใน ทั้งที่ยากกำหนดหรือหยั่งรากฐานให้แน่นปึก
แล้วก็ยังหาความแน่นอนอันใดมิได้เลย พยายามอดทน ปลอบปลุก และมุ่งมั่นสู้มานะต่อไป...

ผ่านไปกับหัวเรื่อง ค่าจ้างงานพิสูจน์อักษร Freelance ทั้งสอนตอนแบบบ้านๆ ใครยังไม่ได้อ่านก็คลิกไป ณ ลิงก์ด้านล่างกันตามอัธยาศัย
(ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ^^)
ค่าจ้างงานพิสูจน์อักษร Freelance 1 
ค่าจ้างงานพิสูจน์อักษร Freelance 2
ซึ่งก็พยายามรวบรวบและเรียบเรียงให้พอเป็นสังเขป
ตามประสบการณ์เท่าที่มี ตามความเป็นจริงที่สุดแห่งชีวิต
โดยในตอบจบแบบไตรภาคนี้...
ใคร่ปรารถนาจะสรุปเก็บตกหรือขยายความเพิ่มเติมบ้าง


ตำแหน่งงาน หรืออาชีพ Proofreader (พิสูจน์อักษร) โดยปกติแล้วมักจะจ้างเป็นพนักงานประจำกัน
ไม่ว่าจะเป็นบริษัท สำนักพิมพ์ หรือผู้ประกอบการโรงพิมพ์ต่างๆ ต้องมีฝ่ายปรู๊ฟนั่งประจำอยู่ในออฟฟิศ
นัยว่าสามารถเรียกใช้ ให้งาน เร่งงาน ประสานงาน ติดต่อ หรือกำหนดงานเสร็จได้ง่ายขึ้น
( สังเกตกันบ้างไหมว่าคุณสมบัติที่เปิดรับสมัครงานตำแหน่ง Proofreader (พิสูจน์อักษร) นี้ 
นอกเหนือจากวุฒิการศึกษา เพศ อายุ และประสบการณ์แล้ว ก็จะมีระบุว่า...
รักการอ่าน เกลียดคำผิด สามารถทำงานภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดและความกดดันได้ 
มีความรับผิดชอบสูง ทำงานเป็นทีมได้ หรือทำงานล่วงเวลาและนอนค้างออฟฟิศได้)
เพราะบางคราอาจมีงานด่วน งานเร่ง หรือช่วงมีงานหนังสือที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ซึ่งสำนักพิมพ์ทั้งหลายต่างขมีขมันผลิตหนังสือเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ากันเต็มที่
ทำให้งานในกอง บก. อาจทำไม่ทัน งานล้นคนน้อย จึงมีการจ้างคนนอกมาช่วยในรูปแบบของฟรีแลนซ์

หน้าที่ของ พิสูจน์อักษร นั้น ว่ากันตามตรง ถ้าปรู๊ฟงานเนี้ยบงานเจ๋งจนไม่มีคำผิดใดๆ ในหนังสือเลย
ก็เสมอตัว ยากจะมีคำชมเซ็งแซ่ให้ได้ยลยิน ทว่าคนทำงานก็สบายใจที่หนังสือไม่มีเสียงตำหนิติติง
แต่หากว่า...ปรู๊ฟหลุด มีคำผิด มีคนบ่นเรื่องการพิสูจน์อักษรที่พิมพ์ผิดหลายจุด อ่านแล้วเสียอรรถรส
ฝ่าย พิสูจน์อักษร ก็จำต้องก้มหน้าทำใจรับไปเต็มๆ พ็อกเก็ตบุ๊คพิมพ์ออกมาแล้วคงไปแก้ไขอะไรไม่ได้
แม้นว่าความผิดพลาดในการปรู๊ฟที่เกิดขึ้นอาจมาจากตัวผู้ปรู๊ฟเอง ทว่าก็ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีก
ไม่ว่าจะเป็นต้นฉบับที่ต้องปิดภายในไม่กี่วัน งานที่ตรวจพิสูจน์แค่รอบเดียวหรือสองรอบ
หรืออาจเป็นขั้นตอนปิดเล่มที่พิสูจน์อักษรแค่เทียบตรงส่วนที่ปรู๊ฟสั่งแก้ เพื่อตรวจว่าได้แก้ไขจริง
แต่ฝ่ายจัดหน้าหรือศิลปกรรมเกิดเผลอหรือ accident ไปโดนคำที่ถูกต้อง หรือประโยคที่ไม่ได้สั่งแก้ใดๆ
หรือไปสั่ง change บางคำเพื่อความรวดเร็ว เหล่านี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หนังสือเล่มนั้นๆ เกิดความผิดพลาดได้

ผมเชื่อโดยสุจริตใจเลยว่า...ไม่มีใครอยากให้หนังสือที่พิมพ์ออกมาแล้วเกิดตำหนิ หรือมีคนต่อว่าแน่
แม้นว่าในปัจจุบันนี้ จะมีโปรแกรมตรวจปรู๊ฟด้วยคอมพิวเตอร์มาช่วยงานแบ่งเบาก็ตามที
ซึ่งเจ้าโปรแกรมนี้สามารถช่วยงานฝ่ายพิสูจน์ฯ ได้ดีในระดับหนึ่งเท่านั้น
ก็มันไม่มีจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึกนี่ คงตรวจเอา "ความ" หรือเข้าใจเนื้อหาทั้งหมดไม่ได้หรอก

ในฐานะที่ผมพอมีประสบการณ์ในแวดวงการทำหนังสือมาร่วมๆ สิบกว่าปี...
แล้วเกิดวันหนึ่งวันใดในกาลข้างหน้าพอมีทุนทรัพย์ มีนายทุน หรือมีโอกาสได้นั่งแท่นบริหารสำนักพิมพ์
ผมก็คิดวางแผนและการจัดการในเรื่องขั้นตอนของฝ่าย พิสูจน์อักษร คร่าวๆ ไว้แล้ว
(แต่ขออุบกริบไว้ก่อน เผื่อจะได้นำมาเขียนลงในบล็อกนี้ในคราวหน้า)

กลับมาเข้าเรื่องสักเล็กน้อยที่ได้ติดค้างในตอนก่อนๆ กันเถิด
คือหลายเดือนมาแล้ว มีสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งจะจ้างให้ปรู๊ฟงานแบบเหมาเป็นเล่มๆ
โดยทางนั้นได้เมลมาเสนอค่าปรู๊ฟให้ในราคาเล่มละ 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
อีกทั้งยังบอกว่าจะมีงานส่งมาให้ proof เรื่อยๆ หรือจะมีงานส่งให้ทำทุกๆ เดือน
ซึ่งผมก็ได้เมล์สอบถามกลับไปสองรอบว่า...500 บาทต่อเล่มนี่ หนังสือมีกี่หน้าและต้องปรู๊ฟกี่รอบ?!?
แนวหนังสือของที่นี่ก็นวนิยายไทยแนวรักๆ โรมานซ์ เฉลี่ยความหนาก็น่าจะสามร้อยหน้าอัพ
ทว่าก็ไร้เสียงตอบรับกลับมาใดๆ ทั้งผมก็ไม่กระตือรือร้นหรือคาดคั้นอยากรู้คำตอบเท่าไรนักด้วย

เพราะคิดว่า ถ้าจริงใจต่อกัน อยากให้ทำงานจริง และตรงไปตรงมา
ก็ควรที่จะตอบแจกแจงหรือให้รายละเอียดเกี่ยวกับงานให้มากขึ้น
เงิน 1 บาท 10 บาท 100 บาท หรือ 500 บาท ก็มีค่าทั้งนั้น
ผมไม่ได้หยิ่ง อหังการ์ ทรนงตัว แม้นจะจนหรือแทบไม่มีกินก็ตามที
กระนั้น ก็อยากทำงานด้วยความสบายใจ มีความสุข สนุกหรรษา
และพอใจกับอัตราค่าจ้างที่สมน้ำสมเนื้องาน ยุติธรรมซึ่งกันและกัน
ต่างฝ่ายต่างยอมรับกันได้ ต่างอยู่ด้วยกันได้...
"คุณอยู่ได้ เราก็อยู่ได้" ก็เท่านั้นเอง

ลองมาคิดกันแบบง่ายๆ สมมุติหนังสือเรื่อง ค่าจ้างงานพิสูจน์อักษร จัดอาร์ตเวิร์กมาได้ 304 หน้า
แล้วให้ค่าจ้างปรู๊ฟ (เอาแค่รอบเดียวพอ) 500 บาท ตกหน้าละบาทกว่าๆ
หนังสือ 304 หน้า จะใช้เวลาทำงานกี่ชั่วโมง? กี่วัน? ไหนจะค่าไฟ ค่าสึกหรอคอมพ์อีก
นี่ยังมิพักกล่าวถึงความเสื่อมทางสายตายามเพ่งอ่าน หรือความทรุดโทรมทางสุขภาพ
แล้วเป็นไปได้หรือที่พ็อกเก็ตบุ๊คหนาราวสามร้อยหน้า มีแต่ตัวอักษรล้วนๆ จะปรู๊ฟวันสองวันเสร็จ
ยิ่งถ้าปรู๊ฟรอบเดียวแล้ววันสองวันเสร็จ เชื่อเถอะ...คงมีคำผิด มีหลุด หรือทำงานแบบไร้คุณภาพ
งานเสร็จเป็นรูปเล่มแล้วก็ใช่ว่าจะเป็นงานที่ดีและถูกต้องเสมอไปหรอกนะ

ยิ่งถ้าเราคิดจะยึดอาชีพฟรีแลนซ์เพื่อการดำรงชีวิต เพื่อความอยู่รอด
ไม่ใช่ทำคั่นเวลาว่าง ทำแบบขำๆ ชิวๆ หรือมีรายได้หลักทางอื่นๆ มาจุนเจือ
ก็ควรยิ่งต้องคิดให้หนัก มันไม่ใช่การดูถูกเงินทอง แต่เราก็ต้องมีมาตรฐานราคางานเช่นเดียวกัน
มาตรแม้นอาจมีคนที่รับทำและพอใจกับค่าจ้างที่ว่านั้น ทว่าไม่ใช่ผมคนหนึ่งแน่นอน
ในวงการหนังสือแคบๆ ของลักษณะงานฟรีแลนซ์เช่นนี้ การคิดค่าจ้างแบบ "ตัดราคา" ให้ถูกกว่า
ย่อมสามารถทำได้ เป็นสิทธิของแต่ละคน ยิ่งคิดราคาถูกแถมคุณภาพงานปรู๊ฟเปี่ยมล้นก็ดีไป...
แต่สำหรับผมแล้วไซร้ ก็อยากมีรายได้เพื่อที่จะดำรงชีพอยู่ได้ มีงานฟรีแลนซ์ป้อนเข้ามาให้ทุกๆ เดือน

ยังมีอีกประเด็นสำหรับอาชีพ พิสูจน์อักษร ฟรีแลนซ์ ที่ต้องเตรียมรับและเข้าใจไว้ ก็คือ...
ระยะเวลาที่จะได้เงิน หรือรายรับที่แน่นอน เพราะผู้ว่าจ้างแต่ละที่ต่างมีกำหนดการจ่ายไม่เหมือนกัน
บางที่ปรู๊ฟงานเสร็จแล้ว อีกสองสามวันถึงโอนเงินให้ ยิ่งเป็นหนังสือที่มีกำหนดปิดเล่มเร็วก็รับค่าตอบแทนไว
ขณะบางแห่งหนังสือเล่มหนึ่งอาจใช้เวลาสองสามเดือนในการดำเนินการ ซึ่งเรามิอาจไปกำหนดอะไรได้
เมื่อเจอแบบนี้ก็ต้องมีทุนทรัพย์เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตและจิตใจเตรียมรับสภาพทางการเงินที่ไม่แน่นอน
เช่น เริ่มรับงานปรู๊ฟหนังสือเล่มหนึ่งต้นเดือนมกราคม กว่าจะปรู๊ฟครบสามรอบ ไหนจะนักเขียนตรวจ
บก.เช็ก อาร์ตแก้ ทำปก หรือวาดภาพประกอบ อาจปาไปสิ้นเดือนกุมภาฯ หรือมีนาฯ ได้
แล้วยิ่งเป็นหนังสือที่ไม่ใช่เบสเซลเลอร์ ไม่ใช่นักเขียนดัง ไม่ใช่ซีรี่ส์ที่คนอ่านติดงอมแงม ฯลฯ
ทางสำนักพิมพ์หรือผู้ว่าจ้างก็อาจไม่เร่งปิดเล่มหรือพิมพ์จำหน่าย ด้วยต้องการเซฟรายจ่ายไว้ก่อน

ยิ่งเขียนก็ชักติดลมบน พิมพ์ๆ ไป ข้อมูลในสมองและความทรงจำก็หลั่งไหลออกมาเรื่อยๆ
บางท่านอาจมองว่า อาชีพฟรีแลนซ์ นี่สบาย อิสระเสรี ลั๊นล้า นอนดึกตื่นสาย อยากทำงานตอนไหนก็ได้ 
ไม่ต้องอินังขังขอบกับสภาพฤดูกาลที่แปรเปลี่ยน ไม่ต้องเสียสุขภาพจิตกับปัญหาจราจรที่จอแจ
ซึ่งก็จริงส่วนหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญต้องมีความรับผิดชอบต่องานสูง ทำงานเสร็จได้ตรงกำหนดเวลา
คนที่เป็นพนักงานเงินเดือนอาจทำงานวันละ 8 ชั่วโมง มีวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ และหยุดวันนักขัตฤกษ์
ขณะที่คนยึดอาชีพฟรีแลนซ์อาจทำงานวันละ 10-18 ชั่วโมง วันเสาร์-อาทิตย์อาจไม่ได้หยุด
หรือบางเดือนแสนโชคร้ายอาจไม่มีงานฟรีแลนซ์ส่งมาให้ทำ ก็หมายถึงว่าเดือนนั้นจะไม่มีรายรับใดๆ

บางคราในบางเสี้ยวแห่งความรู้สึก ยามที่วันสิ้นเดือนเวียนมาถึง...
ผมยังหวนระลึกถึงครั้นสมัยที่ทำงานประจำ เป็นพนักงานกินเงินเดือนบ้าง
อย่างน้อยๆ ทุกๆ สิ้นเดือนก็ยังมีเงินเข้าบัญชีธนาคารที่แน่นอน มีรายรับที่เห็นๆ
มีเงินที่อาจใช้จ่ายหรือให้ความสุขกับชีวิตซึ่งคร่ำเคร่งเหน็ดเหนื่อยมาทั้งเดือนได้
ทว่า ณ ปัจจุบันนี้...ผมต้องปวดหัวเวียนเกล้ากับค่าผ่อนคอนโด ค่าหนี้บัตร ค่าไฟ ค่าน้ำ หรือค่าเน็ต ฯ
บางเดือนก็ผ่านพ้นไปได้ บางเดือนก็ร่อแร่ต้องหาหยิบยืมเงินจากคนอื่น บางเดือนแทบไม่มีจะกิน

ฟรีแลนซ์บางคนโชคดีมีวาสนาได้งานทำสม่ำเสมอ ได้ผู้ว่าจ้างที่มีน้ำใจงาม และรับค่าตอบแทนที่สูง
กระทั่งเดือนๆ หนึ่งสามารถทำงานแล้วรับเงินมากกว่าพนักงานประจำเป็นเท่าตัวด้วยซ้ำ 
ซึ่งไม่ใช่ผมแน่ๆ เพราะผมนั้นยังเป็น "ฟรีแลนซ์ที่ยากจนขัดสนที่สุด" เหมือนเช่นเดิม


LifeBook

.