24 กุมภาพันธ์ 2556

กรุงเทพสุดฤทธิ์ ร่วมกับสุหฤท สร้างเซอร์ไพรส์

อย่างที่เกริ่นไว้ในบทก่อนว่า...ถ้าผมมีสิทธิ์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพฯ ได้ ผมจะขอเลือก--
หมายเลข 17  สุหฤท สยามวาลา

เพราะนับเป็นอีกคนหนึ่งที่สร้างสีสันให้กับ
กรุงเทพมหานคร (กทม.) ไม่ใช่น้อย
เมื่อตัดสินใจออกมาประกาศอาสา
ขอรับใช้ประชาชนลงท้าชิงในตำแหน่ง
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
สำหรับ โต้-สุหฤท สยามวาลา
และด้วยบุคลิกที่มีหลากหลายด้าน
จึงมีผู้นิยามให้กับ โต้-สุหฤทไปต่างๆ นานา
ไม่ว่าจะเป็น...วัยรุ่นที่มีอายุแก่ที่สุด 
ผู้บริหารเฟี้ยวเงาะ 
ดีเจอินดี้ตัวพ่อ 
หรือผู้ชายที่รักภรรยาที่สุดในจักรวาล
 

สโลแกน “กรุงเทพสุดฤทธิ์ ร่วมกับสุหฤท สร้างเซอร์ไพรส์” 

ปัจจุบัน โต้-สุหฤทดำรงตำแหน่งผู้บริหาร บริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา จำกัด
ซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัว เป็นผู้บริหารรุ่นที่ 4 ของตระกูลสยามวาลา
มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเครื่องเขียนที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักไปทั่วประเทศ
อาทิเช่น แฟ้มตราช้าง, ปากกา Cross, ปากกา Quantum, สี Master Art 

ซึ่งเป็นบริษัทที่มีอายุยาวนานกว่า 100 ปี
      
ขณะเดียวกันชีวิตอีกด้านหนึ่งของ โต้-สุหฤท ก็เรียกว่าสุดฤทธิ์ คล้ายแคมเปญที่ออกมาจากเขา
เพราะเอาแค่สไตล์แต่งตัวก็เรียกความน่าสนใจได้อย่างมาก
นอกจากนั้น เขายังเป็นนักร้องนำแห่งวง ‘ครับ’ วงดนตรีอินดี้ที่ดังที่สุดเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว
เขาคือดีเจขวัญใจเด็กแนวแห่งคลื่น Fat Radio
เขาคือพ่อมดอิเล็กทรอนิกส์ ผู้บุกเบิกแนวเพลง Electronica
จากเดิมที่ไม่มีคนรู้จักจนกลายเป็นเพลงที่ขาดไม่ได้ในยามค่ำคืน
และมีภาพลักษณ์ที่เป็นผู้บริหารที่มีความเป็นสมัยใหม่
   
สุหฤท สยามวาลา หมายเลขเบอร์ 17      
“เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯ แบบเดิม”

   
 **นโยบาย 12 ข้อของสุหฤท**
    
       1. ทุกชีวิตต้องปลอดภัยบนทางเท้า เพราะทางเท้าเป็นที่สาธารณะที่ขาดการดูแล
ซึ่งความปลอดภัยในที่นี้ไม่ได้หมายถึงพวกแผงลอย หาบเร่เพียงอย่างเดียว
ปัญหาเช่น ทางเท้าตะปุ่มตะป่ำ ป้ายที่รกเต็มเมืองไปหมด เรื่องแสงสว่างต่างๆ
นี่ก็คือภาพรวมของความปลอดภัย แต่ที่สร้างปัญหาให้คนกทม.มากที่สุดคงเป็นเรื่องหาบเร่ แผงลอย
จะมีวิธีจัดการ 2 แบบคือ การจัดการแบบเด็ดขาด หรืออีกวิธีคือใช้วิธีประนีประนอมค่อยพูดค่อยจากัน
แต่ว่าต้องยึดทุกอย่างภายใต้กรอบกฎหมาย แน่นอนว่าคงจะทำให้บางคนต้องเดือดร้อน
แต่คงไม่มีกติกาสังคมใดทำให้คนทุกคนชอบไปหมดได้ ซึ่งเราก็ต้องให้ทุกคนยึดถือกฎหมาย
ค่อยๆ เข้าไปแก้ไขทีละจุด ทั้งนี้ทั้งนั้นกลยุทธ์ของแต่ละที่จะใช้ไม่เหมือนกัน
เช่นแต่ละที่เราต้องรู้ว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่บ้าง ต้องค่อยๆ เข้าไปจัดการ
อย่างประเทศสิงคโปร์ใช้เวลาเป็น 10 ปีกว่าจะแก้ไขเรื่องนี้ได้
แต่ไม่ว่าอย่างไรเราก็ต้องเริ่มนับหนึ่งให้ได้ก่อน ฉะนั้นทางเท้าควรจะเป็นที่ให้เดินได้อย่างปลอดภัย
      
       2. เริ่มแก้ปัญหาจราจรจากศูนย์ ทำไมกองทัพมดถึงไม่เคยมีปัญหาจราจร
เราต้องกล้าที่จะ “ช่วยกันดูแลระเบียบจราจร” ก็คือ เราชอบที่จะพูดเรื่องอะไรที่มันใหญ่โต
เช่น ให้กทม.เลิกรถติด สร้างโครงการใหญ่เพิ่ม ฉะนั้นง่ายๆ คือขอให้ทุกคนทำตามกฎจราจรก่อน
ประชาชนทุกคนจะรู้ว่าปัญหาของตัวเองอยู่ตรงไหน จะรู้ว่าเส้นทางไหนขวางทางหรือติดขัด
จะรู้ว่าเวลารถตู้จอดสองเลนเป็นอย่างไร ฉะนั้นเราต้องเริ่มเคารพกฎจราจร
มีการรณรงค์ในวันจันทร์ พุธ ศุกร์ หลังจากนั้นทุกคนจะช่วยกันถ่ายรูปปัญหาบนท้องถนนที่ทุกคนพบเจอมา
แล้วส่งมาทางเว็บไซต์ที่เราจะตั้งขึ้นมา เป็นเว็บไซต์ของกทม.ที่ทุกคนจะสามารถดาวโหลดได้
โดยรถแต่คันจะมีตำแหน่ง GPS บอกอยู่ แล้วจากนั้นก็จะส่งไปที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ดูแลจราจรโดยเฉพาะ
นี่จึงเป็นวิธีแก้ปัญหาโดยภาคประชาชนแล้วปัญหาจราจรจะลดลงแบบคาดไม่ถึง
เป็นวิธีที่ไม่ต้องลงทุนอะไรด้วย
      
       3. ขยะแลกสวนสาธารณะ ขยะเกือบหมื่นตันต่อวัน ช่วยกันเปลี่ยนมันเป็นเงิน
แล้วเอาเงินนั้นมาใช้สร้างสวนสาธารณะของพวกเรา ผมคิดว่าเราควรจะแยกถุงขยะเป็นสามสี แดง เหลือง เขียว
ทั้งนี้สำหรับสีแดงก็คือขยะที่ย่อยสลายไม่ได้ เหลืองคือไม่รู้จะเอาไปทำอะไรต่อ
ถ้าเราแน่ใจเราก็ใส่ถังเขียว ดังนั้นต้องมีการจับแยกที่บ้านของตัวเอง
เราต้องเปลี่ยนขยะพวกที่เป็นทรัพย์สินโดยที่เรามีสัมปทานอยู่
เราก็สามารถหารายได้จากขยะตรงนี้ แล้วนำไปสร้างสวนสาธารณะ
       ผมยกตัวอย่างจากตัวเลขจริง ขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ ตก 9,745 ตันต่อวัน
หากนำมารีไซเคิลจะเป็นเงิน 8 บาทต่อกิโลกรัม
แปลว่าเราสามารถแปลงขยะเป็นเงินได้วันละ 77.9 ล้าน
สมมุติหักค่าจัดการต่างๆ ออกไป เหลือกำไร 20% กรุงเทพฯ ก็ยังมีรายได้เพิ่มขึ้น 5,691 ล้านบาทต่อปี
วิธีจัดการก็ง่าย สำรวจพื้นที่สาธารณะ ประเมินค่าใช้จ่าย เปิดให้เอกชนรัฐซื้อขยะ
เพื่อแปรรูปหรือส่งออกต่อไป ทำระบบรายการปริมาณขยะ
เมื่อบรรลุเป้าหมายการขายขยะจึงนำเงินไปสร้างสวนสาธารณะ
      
       4. 50 เขต 50 เสน่ห์ ใช้เสน่ห์ของคนในเขต
เพื่อสร้างชุมชนในฝันให้เด็กๆ ได้เข้าใจชุมชนที่ตัวเองเติบโตมา
หลักคือจะกระจายอำนาจให้กับผู้อำนวยการเขตทุกเขต การที่จะทำให้เศรษฐกิจมันหมุนเวียน
มันไม่ได้อยู่ที่ใดที่หนึ่งของกทม. เรื่องนี้จะเป็นตัวหลักในการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพฯ อย่างหยั่งยืน
ยกตัวอย่าง ลาดกระบังให้ ผอ.ลองทำประชามติ คนลาดกระบังบอกว่าอยากให้เป็นเมืองแห่งเทคโนโลยี
เราก็จำลองเลยว่าจะมีไวไฟ แบบไหนถึงจะเหมาะสม มีพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์
เราสามารถที่จะพาลูกของเราไปเรียนวิทยาศาสตร์ที่เขตลาดกระบังได้ หรือจะเป็นเขตบางรัก
ขอเสนอว่าเป็นดินแดนแห่งความรัก จัดเทศกาล จัดวอล์กกิ้งสตรีท ให้คนมาร่วมสนุกได้
ทั้งนี้จะให้ประชาชนในแต่ละเขตสามารถกำหนดได้ว่าจะออกแบบชุมชนเราให้เป็นแบบไหน
จะเพิ่มแหล่งทำมาหากิน
      
       5. ดูแลโรงเรียนด้วยหัวใจ เราจะต้องช่วยกันดูแลครูให้ดีเพื่อให้ครูได้มีโอกาสสร้าง
คนกรุงเทพสำหรับอนาคต” พร้อมทั้งเสนอโรงเรียนทางเลือกให้คนกรุง
เพราะเห็นว่าหลายครั้งที่รัฐบาลบริหารโรงเรียนและครูจะหนักไปที่การบริหารงบประมาณ
ไม่ค่อยบริหารเรื่องหัวใจ เราต้องเข้าไปรู้ว่าครูทำงานในแบบใด นอกจากนี้อีกแนวทางหนึ่งที่คิดไว้คือ โรงเรียนทางเลือกคือนำเอาแนวทางโรงเรียนนานาชาติมาปรับให้เข้ากับแบบความเป็นไทย
หลักสูตรของเราจะทัดเทียมเมืองนอก เช่น สิงคโปร์ สวีเดน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา ฯลฯ
ซึ่งโรงเรียนทางเลือกถูกรับรองแล้วโดยกฎหมายของทางกระทรวงศึกษาธิการ
ซึ่งเราสามารถจะทำได้และค่อยๆ ทำต่อไป โดยโรงเรียนทางเลือกก็คือ แตกต่างจากหลักสูตรโดยทั่วไป
และบางที่ทำเป็นโรงเรียนสำหรับนักวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะ จบออกมาก็สายตรงเลย
      
       6. โฆษณาสีเขียว เปลี่ยนโจทย์ให้นักทำโฆษณาอยากโฆษณา 
ต้องกล้ามอบความเขียวคืนให้กับกรุงเทพฯ
คงตรงกับที่ส่วนตัวปฏิเสธการหาเสียงโดยใช้ป้าย มันจะเป็นโจทย์ให้กับนักทำโฆษณา
บริษัทต่างๆ ก็อยากจะส่งเสริมภาพลักษณ์ตัวเองในเรื่องแง่ของสิ่งแวดล้อม
อย่างบริษัท SCG แล้วก็มีโลโก้ของ SCG อยู่ข้างบนต้นไม้ กรุงเทพฯ ก็จะมีรายได้เพิ่ม
ประชาชนเห็นก็จะสบายตาเขียวสวย ถ้าจะทำสถานที่ อาทิ ตอม่อรถไฟฟ้า ใต้ทางด่วน
ถ้าใช้โฆษณาสีเขียวก็จะลดค่าโฆษณาป้ายให้ เมืองสวยขึ้น เอกชนแฮปปี้ ประชาชนแฮปปี้
      
       7. จักรยานไม่ใช่ลูกเมียน้อย
ทำไมผู้ใช้จักรยานในเมืองใหญ่ทั่วโลกไม่ต้องเสี่ยงตายเท่าผู้ใช้จักรยานในกรุงเทพฯ
ซึ่งน่าจะดูแลใส่ใจกับกลุ่มคนเหล่านี้ เพราะพวกเขาช่วยลดปัญหารถติด
พวกเขาช่วยลดปัญหามลพิษ เราควรที่จะสนับสนุน
เราเลยอยากจะทำให้จักรยานเป็นพาหนะหลักเป็นทางเลือกอันหนึ่ง เหมือนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์
ถามว่าเราสร้างที่จอดรถให้รถอื่นๆ ได้ ทำไมจะมีที่จอดรถจักรยานบ้างไม่ได้
จักรยานไม่ใช่พาหนะที่จะใช้ออกกำลังกายอย่างเดียว ซึ่งต้องมีทางจักรยานเพิ่มขึ้นด้วย
สามารถขับขี่ไปทำงานได้อย่างปลอดภัย ห้างสรรพสินค้าควรจะมีที่จอดรถจักรยาน
ก่อนจะโดยสารต่อไปด้วยรถไฟฟ้าก็ควรจะมีที่จอดรถจักรยาน ต้องทำให้เป็นทั้งเมือง
ต้องมีการประชุมร่วมกันกับผู้รับผิดชอบจักรยานระดมสมองกัน
      
       8. เครือข่ายการเดินทางสาธารณะ จะต้องเริ่มจากหน้าบ้าน โดยหน้าที่ของกทม. คือ
การดูแลผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะให้ดีตลอดเส้นทางต้องเชื่อมโยงให้ได้ทุกจุด
นี่จะเป็นเรื่องเดียวกับการแก้จราจรจากศูนย์
ผมจะต้องทำจนกว่า คนจะรู้สึกว่าการขับรถไปเองทรมานกว่าการใช้รถสาธารณะ
การแก้ไขปัญหาจราจรถึงจะจบสิ้นและยั่งยืน หน้าบ้านที่พูดไปก็คือ
ตั้งแต่หน้าบ้านเราจะออกไปขึ้นรถวินมอเตอร์ไซด์อย่างไร รถตู้อย่างไร ถึงจะถึงรถไฟฟ้า
จะใช้เวลา 1 ปีในการจะประกาศอนาคตเครือข่ายของกรุงเทพฯ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก
คือถ้าวันหนึ่งคนไม่อยากขับรถแล้ว อยากใช้เดินทางด้วยระบบรถสาธารณะมากขึ้น
รถส่วนตัวก็จะหายไป รถน้อยลงจลาจรก็จะง่ายขึ้นเอง
      
       9. ยกระดับหน่วยกู้ภัยกรุงเทพฯ ให้ทัดเทียมนานาชาติ
เป็นผู้ช่วยเหลือที่ไว้ใจได้ที่สุดในยามฉุกเฉิน อุปกรณ์พร้อม ความสามารถของบุคลากรพร้อม
คือเทศกิจของเราอาจไม่เพียงพอและคนกรุงเทพฯ อาจต้องการความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อยากจะสนับสนุนหน่วยกู้ภัยทั้งหมดของกรุงเทพฯ เพื่อออกมาเป็นอาสาสมัครทำงานให้คนกรุงฯ 24 ชั่วโมง
ถ้าใครเจ็บป่วยเดือดร้อนก็จะมีคนคอยดูแลให้ ลำพังแค่ตำรวจอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ในระดับนานาชาติก็เป็นแบบนี้ทั้งหมด คนในชุมชนก็จะช่วยให้รายได้เขาจากการช่วยกันตรวจตรา
ความปลอดภัยก็จะมีมากขึ้นจากอาสาสมัครเหล่านี้
      
       10. เมืองที่ผู้หญิงอยู่อย่างมีความสุข เมื่อผู้หญิงมีความสุข
ทุกคนในบ้านก็มีความสุขปกป้องให้ปลอดภัย สร้างโอกาสที่จะก้าวหน้า ส่งเสริมในสิ่งที่ชอบ
คือถ้าผู้หญิงในบ้านมีความสุขทุกคนในบ้านก็จะมีความสุขหมดแน่นอน
ฉะนั้นผู้หญิงต้องมีความปลอดภัยในชีวิตของพวกเขา ทั้งกล้อง อาสาสมัคร ที่จะทำให้เขาอุ่นใจ
ผู้หญิงชอบชอปปิ้ง หลังจากเลิกงานมีที่พักผ่อน ส่งเสริมเรื่องการทำสุขภาพให้ดี
ถ้าผู้หญิงในเมืองนี้มีความสุข ความปลอดภัยคนอื่นในกรุงเทพฯต้องมีแน่นอน
      
      11. Lifestyle City / City of Living / Work-Life Balanced / สร้างสมดุลของชีวิตคนกรุงเทพฯ
เมืองต้องการศิลปะทุกหัวระแหง เมืองต้องการพื้นที่สำหรับออกกำลัง
กรุงเทพฯ ต้องสนับสนุนให้ชีวิตของคนในเมืองดีขึ้น
เรื่องนี้ตกใจมากเรื่องเวลาตัวเองรณรงค์เรื่องการหาเสียง
ที่ว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์ของคนกรุงเทพฯ ที่มีอยู่อย่างมากมาย เช่น
เอาใบกะเพรา เอาต้นหอม หรือมะเขือเทศมาเรียงเป็นชื่อสุหฤท เบอร์ 17
หรืออย่างมีรถที่ฝุ่นเกาะเต็มไปหมดยังไม่ได้ล้าง คนที่ชื่นชอบเราก็ไปเขียนว่า
คนล้างไม่อยู่ไปโหวตให้สุหฤท พวกนี้ก็จะแชร์ไปในส่วนต่างๆ ของโซเชียลเน็ตเวิร์ก
นี่คือความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกซ่อนอยู่และไม่ได้รับการสนับสนุน บางคนสามารถที่จะใช้ชีวิตสองด้านได้
ฉะนั้นเราต้องมีที่ที่ให้คนสามารถมารวมตัวกัน วาดรูป เล่นดนตรี มีงานศิลปะ กีฬา
แสดงออกในด้านต่างๆ ให้อีกด้านหนึ่งชีวิตของเขามีความสุข
      
  12. Bangkok-Emo-Meter 
กรุงเทพฯ เมืองแห่งความเชื่อมโยงแอปพลิเคชั่นเดียวสำหรับการใช้ชีวิตในกรุง
เริ่มตั้งแต่ได้ข้อมูลทันเวลาที่ต้องการไปจนถึงประเมินความพอใจได้ในทุกเรื่อง
ทุกวันนี้คนในกรุงเทพฯ ใช้โทรศัพท์สมาร์ทโฟนเป็นล้านคน
ผมมองว่าโลกของดิจิตอลมันเดินเร็วมาก ถ้าไม่เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้มันจะไม่ทัน 
เราลองไปดูที่สิงคโปร์ เมืองของเขาสามารถที่จะโหลดแอปพลิเคชั่นให้การใช้ชีวิตในเมืองเขาดีขึ้น
เช่น เราสามารถติด GPS ให้กับรถเมล์ได้ ป้ายรถเมล์ก็จะบอกว่าอีกกี่นาทีรถเมล์สายที่เรารอจะมา
เป็นชีวิตที่วางแผนได้นี่แค่ยกตัวอย่าง แอปพลิเคชั่นที่จะทำจะไประดมสมองจากผู้ที่เชียวชาญ
พวกวัยรุ่นออกมาให้ใช้ประโยชน์ให้กับกรุงเทพฯ เรื่องอื่นได้
เราจึงต้องค่อยๆ ทำเพราะฐานข้อมูลเรายังไม่แน่น

ขอบคุณข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์